” เมืองน่าน”
เรื่องราวส่วนใหญ่ที่รู้ๆมาก็เป็นเรื่องที่จดจำมาแต่อดีต อาจนานมาแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในความทรงจำ เช่น น่าน เป็นจังหวัดเล็กๆ เป็นเมืองไม้สัก การเดินทางต้องข้ามเขาที่มีป่าไม้หนาแน่นตลอดสองข้างทาง มีพื้นที่ติดชายแดนประเทศลาว ตามแนวชายแดนก็ประกอบไปด้วยชาวเขาหลายเผ่า ซึ่งอดีตก็เคยเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาล ที่ถูกชักนำให้หันมาฝักใฝ่ในลัทธิคอมมิวนิสต์ ชายแดนน่านรวมทั้งพื้นที่บนเขา จึงกลายเป็นแดนก่อการร้าย มีการสู้รบรุนแรง และถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีแดง
น่าน หากนับถอยหลังไปในช่วงระหว่างปี 2510 – 2524 จะมีแต่ข่าวการสู้รบกันเป็นประจำจนดูเหมือนจะกลบภาพลักษณ์ที่ดีๆของเมืองน่านไปจนหมดสิ้น บางจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียงเมืองน่านเช่นจังหวัดแพร่ ลำปาง เชียงราย ก็หวั่นวิตกว่าหากทหารปราบไม่อยู่ แน่นอนว่าเมืองแพร่และจังหวัดอื่นๆที่อยู่ถัดๆมาคงต้องรับศึกหนัก
น่านจึงเหมือน เป็นเมืองหน้าด่าน ทำหน้าที่เป็นกำแพงไม่ให้ฝ่ายผู้ก่อการร้ายล่วงล้ำอธิปไตย ซึ่งขณะนั้นประเทศต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงกับประเทศไทย เช่น เวียดนาม พม่า ลาวกัมพูชา ก็กลายเป็นประเทศที่ปกครองในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ไปหมดแล้ว
ในช่วงเวลาที่เนินนานถึง 14 ปี จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมือนเมืองน่านต้องถูกปิดประตชั่วคราว ถนนหลายสายระหว่างอำเภอต่างๆในจังหวัดน่านไม่ค่อยปลอดภัยนัก หากไม่จำเป็นก็จะไม่มีใครกล้าผ่าน ไม่ต่างกับเส้นทางระหว่าง พิษณุโลก – เพชรบูรณ์หรือในพื้นที่ในเขต อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ที่บริเวณนั้นถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่สีแดง มีการปะทะกันไม่เว้นแต่ละวัน ผู้สัญจรผ่านเส้นทางนั้นอาจโดนลูกหลงจากการต่อสู้ ในยามค่ำคืนแล้วก็จะกลายเป็นถนนร้างที่ไร้ยวดยาน