วัดมงคลบพิตร ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปบุสัมฤทธิ์องค์ใหญ่องค์หนึ่งใน ประเทศไทย เดิมอยู่ทาง ทิศตะวันออกนอกพระราชวัง สมเด็จพระเจ้าทรงธรรมโปรดฯ ให้ย้ายมา ไว้ทางด้านตะวันตก ที่ซึ่ง ประดิษฐานอยู่ในปัจจุบันและโปรดฯ ให้ก่อมณฑปสวมไว้ เป็นวัดโบราณสำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาโดยที่ตั้งของ วัดมงคลบพิตรและพระราชวังโบราณตั้งอยู่ติดกัน นักท่องเที่ยวจึงนิยมเข้ามานมัสการหลวงพ่อมงคลบพิตรก่อน จะเข้าชม พระราชวังโบราณ และบริเวณทางด้านหน้าวิหารวัดพระมงคลบพิตร มีร้านค้าตั้งเรียงรายมากมายหลายร้าน จำหน่าย ผลิตภัณฑ์ พื้นเมืองแทบทุกชนิดเช่น ปลาตะเพียน เครื่องจักสานเครื่องหวาย มีดอรัญญิก ผลไม้กวน และขนมชนิดต่างๆ เหมาะสำหรับผู้สนใจ ซื้อสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกต่างๆ
พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ครองจีวรห่มเฉียง เปิดพระอังสาขวามีสังฆาฏิพาดเหนือพระอังสาซ้าย ชายยาวลงมา จรดพระนาภี ภายในองค์ก่ออิฐเป็นแกนแล้วบุด้วยทองสัมฤทธิ์ มีขนาดหน้าตักกว้าง 9.55 เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์พระไม่รวมฐานบัว 12.45 เมตร ส่วนฐานบัวสูง 4.50 เมตร พระเศียรวัดโดยรอบตรงบริเวณเหนือพระกรรณ 7.25 เมตร พระพักตร์กว้าง 2.32 เมตร บัวหงายระหว่างพระรัศมีกับพระเกศาเมาลีสูง 43 เซ็นติเมตร พระรัศมีเหนือบัวหงายสูง 1.30 เมตร พระกรรณยาวข้างละ 1.81 เมตร พระเนตรยาวข้างละ 1.05 เมตร พระนาสิกยาว 1.20 เมตร พระโอษฐ์ยาว 1.16 เมตร และเป็นพระพุทธรูปหล่อ ขนาดใหญ่ องค์เดียวในประเทศไทย สันนิษฐานกันว่า สร้างในสมัย กรุงศรีอยุธยาตอนต้นราวแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
วิหารพระมงคลบพิตร ถ้าตามพระราพงศาวดารฯบริเวณที่ตั้งวิหารนี้เคยเป็นวัดในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเพราะระบุว่าโปรดอัญเชิญพระพุทธรูป ขนาดใหญ่นามว่า “มงคลบพิตร” มาจากพื้นที่ทางตะวันออกต่อจากนั้นก็ทรงก่อมณฑปครอบครั้นถึง รัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว บรมโกศ โปรดเกล้าให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระมงคลบพิตรขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยโปรดให้ทำบัวหงายคั่นระหว่างพระเกตุมาลากับ พระรัศมีส่วนพระวิหารนั้นก็โปรดให้รื้อเครื่องบนออก แล้วก่อหลังคาให้เหมือนดังพระวิหารทั่วไปต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยา เสียแก่พม่า ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้นพม่าเข้าใจว่าพระมงคลบพิตรเป็นพระพุทธรูปทองคำ จึงได้ใช้ไฟสุมลอกทองจนกระทั่งองค์พระ ตลอดจน พระวิหารได้รับความเสียหายมากโดยเฉพาะเครื่องบนพระวิหารที่หักลงมา ต้องพระเมาฬีและพระกรข้างขวาจนแตกหัก ตกลงมา กลายเป็นซากปรักหักพัง นับแต่นั้นมาจนกระทั่งถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ จึงได้มีการบูรณะ ปฏิสังขรณ์ขึ้น เมื่อครั้งพระยาโบราณราชธานินทร์ ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่าครั้งนั้นได้มีการซ่อม พระเมาฬี และพระกรข้างขวา ด้วยปูนปั้น ส่วนพระวิหารที่อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ก็ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ด้วยเช่นกัน ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ คุณหญิงอมเรศศรีสมบัติ มีศรัทธาที่จะปฏิสังขรณ์ฐานพระมงคลบพิตรขึ้นใหม่ ครั้นนั้นจำเป็นต้องลบรอยปูนปั้นของเดิมออกจนหมด ครั้นถึง พ.ศ. ๒๔๙๙ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์พระมงคลบพิตร และพระวิหารขึ้น ใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยเฉพาะองค์พระมงคลบพิตรนั้นได้ทาสีดำตลอดทั้งองค์ พ.ศ. ๒๕๓๓ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จมาเป็นองค์ประธานเททองหล่อพระพุทธรูปพระมงคลบพิตรจำลอง ได้ประทานพระราชดำริว่าควร ปิดทอง องค์พระมงคลบพิตรทั้งองค์ ทำให้องค์พระพุทธรูปมีพุทธลักษณะที่งดงาม น่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งขึ้น
0
0