วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร

วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร
01/06/2022 ธรรมดีทัวร์

วันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๕ เป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร “พระมหาเถระผู้มีจริยวัตรงามดั่งดอกบัว” เจริญอายุวัฒนมงคลลครบ ๘๘ ปี หลวงปู่บัวเกตุ เป็นพระคณาจารย์ที่ประชาชนในภาคตะวันออกและทางภาคเหนือ มีความเคารพศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างมาก ท่านเป็นพระบริสุทธิสงฆ์ผู้ตั้งมั่นในความประพฤติปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ตามหลักพระธรรมวินัยทุกประการ ไม่ยอมก้าวล่วงแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม นับเป็นพระเถราจารย์ที่กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ

ลูกหลานขออาราธนาอำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย ขอให้หลวงปู่บัวเกตุ มีธาตุขันธ์แข็งแรงอยู่เป็นร่มโพธิธรรมสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาสืบนานเท่านานเทอญ

กรรมอันใดที่ลูกหลานเคยประมาทพลาดพลั้งไปด้วยกายวาจาใจ ขอหลวงปู่ โปรดงดโทษล่วงเกินเหล่านั้นด้วยเทอญ

ธรรมอันใดที่องค์หลวงปู่ได้รู้แจ้งเห็นจริงแล้ว ขอลูกหลานได้มีโอกาสได้รู้ธรรมเห็นธรรมนั้นด้วยเทอญ

ธรรมเทศนาภาวนาเพื่อให้เห็นทุกข์
ความเกิดนี้ก็เป็นทุกข์ด้วย พิจารณาความเกิดว่าเป็นทุกข์อย่างไร เห็นคนทั้งหลายพอถึงวันเกิด ก็ทำบุญเลี้ยงเพื่อนเลี้ยงฝูงสนุกสนาน วันเกิดไม่น่าเป็นทุกข์ นี่แหล่ะคือกิริยาเหล่านี้บังทุกข์ไว้ ถ้าพิจารณาว่าถึงวันเกิดเข้าไปอีก ๑ ปีแล้ว หมดไป ๑ ปีแล้ว ปีหน้าวันเกิดอีก หมดไปอีกแล้ว ..
โอวาทธรรมหลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร

ชีวประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร (พระครูวิบูลย์ธรรมกิจ) สถานะเดิมท่านชื่อ “พันธุ์บัวเกตุ แซ่สิ” เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๓ ค่ำ เดือน ๗ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๔๗๗ บิดาชื่อ “ตงหริ่น แซ่สิ” (เกิดประเทศจีน) มารดาชื่อ “นางเปีย แสงศรี” เกิด ณ บ้านสวน หมู่ที่ ๒ ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มีพี่น้องร่วมกัน ๖ คน

เมื่ออายุได้ ๕-๖ ขวบ พอถึงฤดูหนาวประมาณเดือนกุมภาพันธ์ จะมีพระธุดงค์มาปักกลดที่ป่ามะม่วง หลังโรงเรียนบางละมุง ตกเย็นญาติโยมจะนำน้ำปานะบ้าง ตังเมบ้างไปถวาย พอตอนบ่ายๆ โยมบิดาก็เคี่ยวน้ำตาลกระจกหรือซื้อน้ำตาลกรวดบ้างไปถวาย และโยมบิดาจะพาไปด้วยทุกครั้ง ที่ชอบมากก็คือได้รับความเมตตาจากพระธุดงค์ผูกข้อมือ “ผูกของเหนียว” จึงเกิดความผูกพันและคิดว่าถ้าเราโตได้บวชจะขอบวชเป็นพระธุดงค์ มีความรู้สึกชอบพระป่าตั้งแต่นั้นมา

เมื่ออายุได้ ๗ ปี บิดาได้นำไปฝากเข้าเรียนหนังสือกับครูใหญ่โรงเรียนเจริญราษฎร์(เมืองพัทยา ๒) พอเข้าเรียนปีแรก ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง บ้านเมืองจึงตกอยู่ในภาวะสงคราม เกิดอาการขัดสนทางด้านอาหาร เสื้อผ้าและอุปกรณ์การเรียน

เรียนได้ปีเดียว บิดาได้ถึงแก่กรรม เมื่อสิ้นบิดาก็ทำให้ครอบครัวลำบากยิ่งขึ้น จึงต้องรับจ้างฝั้นเชือกทำสายสมอเรือ ได้ค่าจ้างวันละ ๕๐ สตางค์ ขณะนั้นมีทหารเรือมาประจำอยู่ ได้แนะนำให้ชาวบ้านทำน้ำตาลมะพร้าว สงครามยิ่งรุนแรงก็ยิ่งขัดสนเครื่องอุปโภคบริโภคมากขึ้น มารดาจึงนำไปฝากอยู่กับหลวงตาแดง วัดช่องลม สงครามโลกสงบ พอดีจบชั้น ป.๔ แต่ขณะนั้นยังไม่มีที่จะเรียนต่อ

• บรรพชาอุปสมบท
พออายุย่าง ๒๐ ปี เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๗ โยมมารดาได้นำไปฝากวัดกับหลวงปู่เผือก ฉนฺนเถระ(พระครูวิบูลย์ธรรมกิจ) เจ้าอาวาสวัดช่องลม ได้รับการอบรมสั่งสอนและฝึกซ้อมขานนาคจากหลวงพ่อบุญมี อคุคปุญฺโญ รองเจ้าอาวาส ท่านจะเน้นหนักเรื่องอักขระมคธมาก อยู่วัดได้สองเดือนจึงได้อุปสมบท เมื่อวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเมีย ตรงกับวันจันทร์ที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๙๗ เวลา ๑๑.๐๕ น. โดยมี พระเทพกวี(จั่น วิจัญฺจโล) วัดเทพศิรินทราวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระราชเมธากรกวี(สุบิน สุเมโธ) วัดเทพนิมิตร เป็นพระกรรมวาจาจาย์ พระครูชลโธปมคุณ(ปุ่น ชยปุณฺโณ) วัดเขาบางทราย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ณ พัทธสีมาวัดช่องลม ต.นาเกลือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ได้รับฉายาว่า “ปทุมสิโร” เมื่อบวชแล้วเปลี่ยนชื่อและนามสกุลเป็น “บัวเกตุ กิจสุภาพศิริกุล”

• ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติและปกครองคณะสงฆ์
ในพรรษาแรกท่านได้ศึกษาเล่าเรียนทางปริยัติธรรมในสำนักของวัดช่องลมนาเกลือ สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรีถึงนักธรรมชั้นเอกในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ท่านได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักของวัดตั้งแต่นั้นมาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นเวลานานถึง ๒๖ ปี

ในพรรษาที่สองของท่าน หลวงพ่อบุญมี อคฺคปุญฺโญ รองเจ้าอาวาสวัดช่องลม ถูกให้ไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดโพธิสัมพันธ์ ซึ่งมีผู้ศรัทธาบริจาคที่ดินสร้างวัด ในส่วนของทางวัดช่องลมจึงไม่มีพระเก่าอยู่เลย เหลือหลวงปู่เผือก ฉนฺนเถระ กับท่านเพียง ๒ รูป ท่านจึงต้องช่วยงานต่างๆ ของทางวัด จัดทำบัญชี สอนนาค ท่องปาฏิโมกข์ สอนปริยัติธรรม การฝึกเป็นครูสอนปริยัติธรรม

ท่านเล่าให้ฟังว่าขณะนั้นหลวงปู่เผือก ฉนฺนเถระ อายุ ๘๓ ปีแล้ว การสอนนั้นไม่ใช่ของง่ายเลย พื้นฐานทั้งทางโลกและทางธรรมก็น้อย ประสบการณ์ต่างๆก็ยังมีไม่พอ ด้วยความมานะพยายาม ท่านจึงได้ค้นคว้าอ่านตำรับตำราและต้องจำให้มากๆ ไว้ก่อน ฝึกคิด ฝึกทำ และฝึกพูด สิ่งใดที่ขัดข้องจนปัญญาก็ไปที่วัดศรีมหาราชา สอบถามกับพระเถระผู้ใหญ่เช่น พระครูใบฎีกาผัด พระครูปริยัติวราทร(ผิว ปนฺนโท) เจ้าคณะตำบลในสมัยนั้นอยู่เสมอๆ ในที่สุดท่านก็สามารถสอนได้ ปี พ.ศ.๒๔๙๙ ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูใบฎีกาบัวเกตุ ฐานานุกรมในท่านพระเขมทัสสีชลธีสมานคุณ(เอี่ยม เมฆิโย) เจ้าคณะจังหวัดชลบุรีฝ่ายธรรมยุต

หลังจากที่หลวงปู่เผือก ฉนฺนเถระ มรณภาพแล้วพระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านทั้งหลาย ได้นิมนต์ท่านทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสวัดช่องลมนาเกลือ พ.ศ.๒๕๐๓

พอถึง ปี พ.ศ.๒๕๐๕ ท่านพระครูใบฎีกาบัวเกตุ ปทุมสิโรได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดช่องลม เมืองพัทยา จ.ชลบุรีโดยสมบูรณ์ ในระยะแรก มีผู้ศรัทธาท่านไม่มากนัก เพราะท่านมีพรรษาน้อยยังหนุ่มอยู่ ประกอบกับขณะนั้น ทางวัดมีปัญหามาก ถึงกับในบางพรรษา มีท่านกับสามเณรรูปเดียวเท่านั้น สมัยนั้นทางวัดอัตคัดขัดสนมาก บ่อยครั้งท่านต้องเอาน้ำตาลทรายมาเคี่ยวให้เดือดจนเป็นตังเม แล้วจึงเอามาฉันร่วมกับพระเณรในวัด แต่ท่านก็ไม่ย่อท้อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวของท่าน ว่าต้องทำให้ได้และให้ดี ท่านได้พยายามศึกษาหาความรู้ สอบถามผู้รู้เก่าๆ ที่เคยบวชมาก่อน ว่าแนวทางที่ครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านทำกันมาอย่างไร ท่านปฏิบัติตนตามแนวทางของพระธรรมวินัยและบูรพาจารย์มาอย่างสม่ำเสมอมิได้บกพร่อง โดยที่ไม่ให้ใครมาว่าท่านได้ ท่านยังใช้วิธีการให้ญาติโยมของทางวัดช่วยสอดส่องดูแลการประพฤติปฏิบัติของพระเณร เมื่อไปนอกวัด โดยท่านเข้มงวดต่อการนุ่งห่ม การสำรวมระวังในทุกอิริยาบถของพระเณร ถ้าอบรมสั่งสอนศิษย์โดยรวมถึงเรื่องวัตรปฏิบัติที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย และสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า ” การสอนที่ยากที่สุดคือการสอนตนเอง” ทุกเรื่องที่จะอบรมสั่งสอนท่านได้ปฏิบัติตนเป็นอย่างที่ดีสมฐานะของความเป็นผู้นำหมู่คณะที่ควรแก่การเคารพยิ่ง ท่านได้ปกครองพระภิกษุสามเณรตามแนวทางของพระธรรมวินัยและบูรพาจารย์มาด้วยดี

มาปี พ.ศ.๒๕๑๒ ท่านพระครูใบฎีกาบัวเกตุได้รับการแต่งตั้งเป็น พระครูวิบูลธรรมกิจ (บัวเกตุ ปทุมสิโร) และได้รับการแต่งตั้งเป็นพระครูอุปัชฌาย์ในเวลาต่อมา ตลอดระยะเวลาที่ท่านพระครูวิบูลธรรมกิจได้ปกครองดูแลวัดช่องลมนี้มา ท่านสั่งสอนอบรมพระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาภายในวัดให้มีความรู้ในพระธรรมวินัยด้วยดี

• การบําเพ็ญสมณธรรม
ท่านพระครูวิบูลธรรมกิจ (พระอาจารย์บัวเกตุ ปทุมสิโร) เป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย สนใจและปฏิบัติในทางสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน พร้อมกันนั้นท่านก็แสวงหาครูบาอาจารย์เพื่อศึกษาวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง จะได้นําเอามาอบรมสั่งสอนศิษย์และญาติโยมต่อไป เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ท่านได้เดินทางไปเรียนวิปัสนากัมมัฏฐานกับหลวงปู่จ่าง วัดน้ำตกพริ้ว จ.จันทบุรี ได้ปฏิบัติอยู่ด้วยประมาณหนึ่งเดือน แต่ด้วยความเป็นห่วงหลวงปู่ (หลวงปู่เผือก ฉันโน) ที่อยู่วัดเพียงลําพัง จึงกลับมาอุปัฏฐากหลวงปู่ ในช่วงเวลานั้นท่านได้ปฏิบัติด้วยตนเองอยู่เสมอ

ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ พระครูโสภิตบรรณากร ได้แนะนําแนวทางการปฏิบัติสมถวิปัสนากัมมัฏฐาน ของหลวงปู่พล ธัมมปาโล (พระครูสังวรธรรมานุวัตร) วัดหนองคณฑี อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี ใช้คําภาวนาว่า “สัมพุทโธ” ท่านปฏิบัติจนสามารถนํามาใช้อรมสั่งสอนภิกษุสามเณรและญาติโยมในวัดมาตลอด

• ธุดงค์ท่องถิ่นธรรมพระกัมมัฏฐาน

ท่านเริ่มออกธุดงค์ปฏิบัติธรรมครั้งแรก หลังจากออกพรรษาและมีการสอบธรรมสนามหลวงแล้วในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ในการออกธุดงค์ครั้งนี้ได้ไปด้วยกัน ๓ รูป มีตัวท่าน พระพล ธีรพโล (พระครูวรพรตศีลขันธ์) ปัจจุบันอยู่ที่สหรัฐอเมริกา พระประเสริฐ ฐิตโสภโณ (ผู้บันทึกและปัจจุบันลาสิกขาแล้ว) ได้เตรียมเครื่องอัฐบริขารที่จําเป็นต่อการธุดงค์ แต่เนื่องจากยังไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลย เมื่อได้ธุดงค์ด้วยเท้าแล้วจึงเกิดความยุ่งยากลําบากพอสมควร เป็นเพราะอัฐบริขารเหล่านั้นมีน้ำหนักมาก ท่านได้ออกเดินทางออกจากวัดในวันพุธที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๖ ตอนเช้ามืดโดยโยมประจวบ โศภารักษ์ ขับรถไปส่งที่วัดพระพุทธบาท จ.สระบุรี เพื่อจะได้กราบนมัสการพระพุทธบาทและกราบหลวงปู่พล ธัมมปาโล วัดหนองคณฑี เพื่อขอคําชี้แนะจากท่าน หลังจากได้สนทนาพอสมควรจึงกราบลาหลวงปู่และกราบพระพุทธรูปที่วัดแล้วออกเดินทางด้วยเท้าไป ตามเส้นทางรถไฟสายแก่งคอย – ชัยภูมิ พักค้างคืนที่ถ้ำเขาพัด มีปัญหาเล็กน้อยจากเครื่องอัฐบริขาร พักปักกลดกลางคืนทําวัตรแล้วนั่งสมาธิ รุ่งเช้าออกบิณฑบาตในหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ กลับที่พัก ฉันอาหารแล้วออกเดินทางต่อ ในระหว่างเดินธุดงค์ ถ้ามีชาวบ้านมาทําบุญท่านก็จะแสดงธรรมเทศนา ท่านจะ ปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตรตลอดเวลาของการธุดงค์ ท่านได้ข้อคิดเป็นสติว่า ยิ่งธุดงค์มากใจก็แข็ง เท้าก็แข็ง

การเดินด้วยเท้าในวันที่สองมีปัญหาเท้าเริ่มเจ็บ เนื่องจากเดินด้วยเท้าเปล่าไปตามหัวระแหงของท้องนาบ้าง ทางรถไฟบ้าง ป่าเขาบ้าง ประกอบกับน้ำหนักของอัฐบริขาร จึงเป็นอุปสรรคทําให้เดินได้ช้าลงและต้องพักอยู่กับที่หลายๆ วัน สถานที่ที่ท่านเลือกพักปักกลด ท่านจะเลือกบริเวณที่เหมาะสมและสงบ หรือไม่ก็ตามถ้ำตามเขาที่ไกลจากหมู่บ้านพอประมาณ ในระยะแรกๆ ท่านเลือกพักที่วัดเพื่อรักษาบาดแผลที่เกิดจากการเดินทางหลายๆ วัน เมื่อเห็นว่ามีอุปสรรคทําให้เดินได้ช้าลง ท่านก็หันมาใช้โดยสารรถยนต์หรือรถไฟสลับการเดินด้วยเท้าบ้าง เพื่อให้ถึงที่หมายตามที่ตั้งใจไว้ แต่ในระยะหลังๆ มักเดินด้วยเท้าเพราะมีรองเท้าใส่
ท่านได้เดินทางไปปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐานกับหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ที่วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา ระยะเวลาพอสมควรแล้วจึงกราบลาไปสกลนคร (ที่วัดป่าสาลวันนี้ได้ความรู้เรื่องเครื่องอัฐบริขารที่ใช้ ในการออกธุดงค์และการฉันภัตตาหารแบบพระวัดป่าที่ฉันมื้อเดียวในบาตร)
ถึงวัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ได้พักและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ ที่นี้ ท่านมีโอกาสสนทนาธรรมกับหลวงพ่อทิพย์และพระอาจารย์แปลง ครั้งนี้ท่านได้ปรับปรุงเครื่องอัฐบริขาร ใหม่ให้ถูกต้องเหมาะกับการเดินธุดงค์ ได้อยู่พักปฏิบัติธรรมอยู่ที่นี่ นานกว่ายี่สิบวัน
หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับลงมากราบพระธาตุพนม มาสกลนคร กราบอัฐิธาตุท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าสุทธาวาส มาพักค้างคืนที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ วัดถ้ำสีแก้ว แล้วลงมาพักที่วัดป่าสาลวันอีกครั้ง ถึงวันพุธที่ ๑๘ เมษายน จึงเดินทางกลับวัดช่องลมนาเกลือ เป็นเวลาทั้งสิ้น ๔๕ วัน ในการออกธุดงค์ครั้งแรก
ท่านพระครูวิบูลธรรมกิจก็เริ่มออกเดินธุดงค์เพื่อความสงบและสันโดษตามที่ต่างๆ ตลอดแนวทางที่ท่านเดินธุดงค์ไปท่านได้เผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนแก่ชาวบ้านที่ได้มาฟังธรรมของท่านเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนาเป็นอันมาก ถึงกระนั้นท่านมิได้ละทิ้งหน้าที่เจ้าอาวาส หน้าที่พระอุปัชฌาย์ ท่านได้ปกครองดูแลและทำการอุปสมบทแก่กุลบุตรเป็นอันมาก
หลังจากปี พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นต้นมา ที่วัดช่องลมนาเกลือได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น สีจีวรเปลี่ยนไปเป็นสีกลัก บาตรก็เปลี่ยนเป็นบาตรสแตนเลส ฝาบาตรอลูมิเนียม การอุ้มบาตรก็เปลี่ยนมาใช้สายโยก (สายสะพาย) แทน การปฏิบัติก็ได้นําแบบวัดบ้านผสมกับวัดป่าบ้าง แต่ก็ไม่ทิ้งประเพณีเดิมที่ชาวบ้านทํากันมา โดยปรับให้เข้ากันและได้จัดให้มีสถานที่ปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมของวัดป่าขึ้นที่พักสงฆ์สุทธิภาวัน ซึ่งจัดได้ว่าเป็นที่พักสงฆ์แห่งแรกในอําเภอบางละมุง จึงนับว่าการออกธุดงค์ครั้งนี้เท่ากับเป็นการสร้างความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมอันเป็นคุณประโยชน์แก่พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง สมดั่งคําหลวงปู่ ฝั้น อาจาโร ที่บอกไว้ว่า “ท่านจะเป็นที่พึ่งของชาวบ้านในวันข้างหน้า ”
การเดินธุดงค์ครั้งที่สองเกิดขึ้นเมื่อออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ แล้ว หลังจากท่านทําภารกิจของอุปัชฌาย์และของคณะสงฆ์เสร็จแล้ว ท่านก็เตรียมการสําหรับธุดงค์ทันที เนื่องจากมีประสบการณ์มาแล้ว หลังจากกราบนมัสการพระพุทธบาทที่สระบุรีแล้ว จึงออกธุดงค์ด้วยเท้าไปตามทางรถไฟสายแก่งคอย – นครราชสีมา ได้มาพักปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ณ วัดป่าสาลวันอีกครั้ง นานพอสมควร แล้วจึงเดินทางต่อด้วยรถยนต์ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ที่ถ้ำขามพอสมควรแก่เวลาแล้ว จึงเดินทางต่อมา วัดถ้ำกลองเพล จ.หนองบัวลําภู มาจังหวัดเลย ลงมาหล่มสัก เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก แล้วขึ้นลําปางและไป เชียงราย พอใกล้เข้าพรรษาจึงเดินทางกลับวัดช่องลมนาเกลือ
ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ ท่านธุดงค์ไปจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อไปถึงพุมุด ได้ปฏิบัติธรรมอยู่บริเวณนั้น พอใกล้เข้าพรรษา ท่านจึงกลับมาจําพรรษาที่วัดช่องลม
ปี พ.ศ.๒๕๑๙ ธุดงค์อีกครั้ง ไปถึงด่านเจดีย์สามองค์ข้ามไปพม่า แล้วกลับเข้ามาทางอุทัยธานี
ปี พ.ศ.๒๕๒๐ ไม่ได้ออกธุดงค์ ท่านมีกิจของคณะสงฆ์ ในปีนี้ท่านได้อุปัฏฐากและสนทนาธรรมกับหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร(พระญาณสิทธาจารย์) ท่านได้มาพักอยู่ที่วัดช่องลมระยะเวลาหนึ่ง
ปี พ.ศ.๒๕๒๑ ท่านได้ออกธุดงค์ไปกาญจนบุรีอีกครั้ง แต่ยังไปไม่ถึง ในระหว่างนั้นได้พบกับพระธุดงค์ด้วยกันจึงได้ชักชวนกันไปธุดงค์ในดินแดนแถบภาคกลาง มาทางอยุธยา อุทัยธานี (วัดถ้ำทอง) และวัดเกาะแก้ว-พิศดาราม ต.บ้านลานดอกไม้ จ.กําแพงเพชร และกลับถึงวัดช่องลม วันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๑
ปี พ.ศ.๒๕๒๒ เดินธุดงค์ไปถึงที่ ต.บ้านลานดอกไม้ วัดเกาะแก้ว-พิศดาราม จ.กําแพงเพชร ได้ปริวิเวกอยู่แถบภาคกลางตอนเหนือ มีจังหวัดสุโขทัย (วัดศรีสัชนาลัย) อุตรดิตถ์ กลับมายัง อ.พรานกระต่าย จ. กําแพงเพชร
ปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ท่านออกธุดงค์เพียงองค์เดียว โดยออกจากวัดมาปฏิบัติธรรมอยู่ที่กําแพงเพชร จากนั้นมา อ.เด่นชัย จ.แพร่ แล้วต่อด้วยรถไฟไปพักปฏิบัติธรรมที่ถ้ำจาง อ. แม่เมาะ จ.เชียงราย แล้วกลับลงมาถ้ำสุขเกษม (วัดถ้ำสุขเกษมสวรรค์) อ.เถิน จ.ลําปาง ได้จําพรรษาที่นี่เป็นครั้งแรกตั้งแต่ออกมาจากวัดช่องลมมา ได้ปฏิบัติสมณธรรมในระหว่างพรรษานี้ มีอุบาสกอุบาสิกามาทําบุญและปฏิบัติธรรมกันมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านแถวนั้นและฆราวาสที่มีศรัทธาทางจังหวัดภาคเหนือตามมาปฏิบัติธรรมด้วยเป็นครั้งคราวและท่านได้บอกกับลูกศิษย์ว่าที่ถ้ำสุขเกษมนี้ การปฏิบัติธรรมมีความก้าวหน้ามาก
ปี พ.ศ.๒๕๒๔ หลังจากออกพรรษาได้ธุดงค์ไปปฏิบัติธรรมตามที่โยมได้นิมนต์ไปที่ จ.เชียงราย ไปกลับพระลูกศิษย์ ๓ รูป ได้ไปปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ขาน ฐานวโร วัดบ้านเหล่า ต.ทุ่งก่อ อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย ประมาณสองเดือน
ปี พ.ศ.๒๕๒๕ อุบาสกอุบาสิกาทางพัทยาเป็นห่วงเป็นใย ส่งคนมาคอยดูแลท่านอยู่เสมอและพรรษานี้ได้นิมนต์ให้ท่านกลับมาอยู่วัดช่องลมบ้าง และเนื่องจากมีภาระกิจทางสงฆ์มากจึงไม่ได้ธุดงค์
จากนั้นปี พ.ศ.๒๕๒๖ ท่านออกธุดงค์ไปทางภาคเหนืออีกครั้ง อยู่ที่วัดศิลาวารี ดอยต๊อก อ.เถิน จ.ลําปาง จากนั้น โยมได้นิมนต์ไปป่าลัน ต.ปงน้อย อ.แม่จัน จ.เชียงราย อยู่จําพรรษาที่สํานักสงฆ์อรัญญวิเวก บ้านป่าลัน ๒ พรรษา (พ.ศ. ๒๕๒๖ – ๒๕๒๗)
ปี พ.ศ.๒๕๒๘ ธุดงค์มาพักอยู่ในสวนของโยมอุปัฏฐากที่ อ. เถิน ประมาณ ๑๕ วัน แล้วจึงธุดงค์ต่อไปที่ ปางกื๊ด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จําพรรษาอยู่ที่สํานักสงฆ์คูหาผาสุข ๒ พรรษา (พ.ศ. ๒๕๒๘ – ๒๕๒๙) ที่นี่ท่านได้ปฏิบัติธรรมและเทศนาธรรมแก่ญาติโยมตลอดทั้งสองพรรษา
ในระหว่างที่ท่านได้ธุดงค์ปฏิบัติสมณธรรมตามสถานที่ต่างๆ นั้น ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติด้วยตัวของท่านเองเป็นส่วนใหญ่ ต่อเมื่อมีโอกาสได้พบกับครูอาจารย์ทางด้านสมถวิปัสนากัมมัฏฐาน ท่านก็จะเข้ากราบนมัสและการเรียนถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ ตามที่ท่านได้ประสบมา และท่านก็นําคําสอนมาปฏิบัติ ท่านมักจะอบรมสั่งสอนคนโดยทั่วไปว่า การทําสมาธิจําเป็นต้องมีครูบาอาจารย์คอยแนะนําแก้ข้อสงสัยต่างๆ อันเกิดขึ้นขณะปฏิบัติ มิฉะนั้นจะทําให้หลงทาง เสียเวลาเนินนาน หรือเดินทางผิดไปเลยก็ได้
ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๓๐ เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๐) ท่านได้เดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิโรธรังสี) ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ได้พักค้างคืนที่วัดหนึ่งคืนแล้ว วันรุ่งขึ้นได้กราบลาหลวงปู่เทสก์ แล้วเดินทางไปกราบนมัสการหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ณ วัดป่าบ้านตาด จ. อุดรธานี ต่อมาจึงได้เดินทางไปธุดงค์ และไปพักปฏิบัติธรรมที่สํานักสงฆ์คูหาผาสุก ปางกื๊ด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
ในปี พ.ศ ๒๕๒๗ และ ๒๕๓๒ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้มาพักปฏิบัติธรรมที่สํานักสงฆ์สุทธิภาวัน ของวัดช่องลมและได้สร้างศาลาบําเพ็ญบุญและกุฎิไว้หนึ่งหลัง
จากนั้นท่านได้ธุดงค์จากปางกื๊ด ไปที่ อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ได้พักปฏิบัติธรรมอยู่ที่หลังหมู่บ้านป่าหมากและได้รับนิมนต์ให้ไปที่บ้านแม่ปาง อ.แม่ลาน้อย จนกระทั่งเกิดความคิดที่จะสร้างวัดขึ้นที่นี่ ตั้งแต่บัดนั้นท่านไม่ได้ออกธุดงค์อีก
ปี พ.ศ.๒๕๓๐ จึงได้ธุดงค์ไปถึงเขต อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวเขาจำนวนมาก ท่านหวังจะฟื้นฟูพระศาสนาที่นี่จึงได้สร้างวัดป่าริมธาราวาสขึ้น เพื่อสั่งสอนอบรมและส่งเสริมความเป็นอยู่ของชาวบ้านให้มีธรรมและพัฒนาให้เจริญขึ้น เมื่อพัฒนาวัดจนเจริญพร้อมทุกด้านแล้ว ท่านได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดแม่ปาง ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน หลังจากพัฒนาวัดแม่ลาน้อยจนเจริญเป็นวัดที่มีชาวบ้านและชาวเขาศรัทธา จนกลายเป็นศูนย์รวมแหล่งเผยแพร่ศาสนาพุทธที่สมบูรณ์แล้ว ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาเพื่อพัฒนา วัดเขานกยูง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย จนเมื่อพัฒนาวัดเขานกยูง สำเร็จแล้ว ท่านจึงได้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดปางกึ๊ด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ จนถึงทุกวันนี้
น้ำตาลสด จากต้นมะพร้าวก็ดี
จากต้นตาลก็ดี จากอ้อยก็ดี
เมื่อเขานำลงไปในกระทะ เอาไปเคี่ยวด้วยไฟ
มันเดือดมากเข้า มากเข้า งวดมากเข้า มากเข้า
มันก็จะข้น กวนมากเข้า มากเข้า มันก็จะเป็นก้อน
จิตก็เหมือนกันสำรวมระวังดีแล้วก็จะนิ่ง
เพราะอารมณ์อื่นไม่ดึงไป ไม่ชักไป ..
โอวาทธรรมหลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร
ที่ผ่านมาไม่ว่าพระอาจารย์บัวเกตุ จะย้ายไปจำพรรษาที่วัดไหน ไกลแสนไกล เดินทางลำบากแค่ไหน ลูกศิษย์ลูกหาก็จะตามไปกราบสักการะมิได้ขาด โดยเฉพาะชาวชลบุรี ศรีราชา พัทยา และใกล้เคียง ต่างพากันไปกราบท่าน และช่วยพัฒนาวัดที่ท่านไปจำพรรษาจนเจริญรุ่งเรืองทุกหนทุกแห่ง ปัจจุบันท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าปางกื๊ดกิตติธรรม อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นวัดป่ากลางหุบเขาที่สงบสงัด เป็นสัปปายะสถานของพระกัมมัฏฐานผู้รักความสันโดษอย่างหลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร พระมหาเถระผู้มีจริยวัตรงดงามดั่งดอกบัว
“..ถ้าใจเราถึงพระรัตนตรัย อย่างแท้จริงแล้ว
แม้กราบที่ไหนก็โดนพระ ตรงกันข้าม
ถ้าหากใจเราไม่ถึง พระรัตนตรัยแล้ว
แม้กราบพระที่ไหน​ ๆ​ ก็ไม่โดนพระ
ที่สุด แม้กราบที่ตักพระ ก็ไม่โดนพระ ไม่ถึงพระ
เพราะทุกสรรพสิ่ง ทั่วไตรโลกธาตุนี้
มีใจเป็นใหญ่ใจเป็นประธาน
ทุกสรรพสิ่งย่อมสำเร็จแล้วได้ด้วยใจ..”
โอวาทธรรมคำสอนของหลวงปู่บัวเกตุ ปทุมสิโร
คัดลอกมาจากหนังสือ
“พระครูวิบูลธรรมกิจ(บัวเกตุ ปทุมสิโร)” ที่ระลึกในงานผูกพัทธสีมาและฝังลูกนิมิตพระอุโบสถ วัดแม่ปาง ต.สันติคีรี อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ; พิมพ์เมื่อ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖
• •••••••••••••••••••••••••••••• •
ขอบคุณข้อความจากคุณเอ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน

บนเส้นทางแห่งศรัทธา..
ธรรมดีทัวร์

Dhamdeetour.com

Comments (0)

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

*

คุณอาจจะใช้ป้ายกำกับและคุณสมบัติ HTML เหล่านี้ได้: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>